สิงคโปร์ :
โอกาสขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของ SMEs ไทยไปต่างแดน

 
   
            การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ เปิด
โอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยมองเห็นช่องทางขยายธุรกิจไปอาเซียนมากขึ้น รวมถึงระบบแฟรนไชส์ซึ่ง
ถือเป็นธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ประกอบการตัดสินใจที่จะเข้าไปลงทุนในสิงคโปร์
ซึ่งบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนได้ดึงดูดแฟรนไชส์ชั้นนำจากทั่วโลก อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และ
เกาหลีใต้ เข้ามาเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ประเทศที่มีแฟรนไชส์มากที่สุดในสิงคโปร์ คือ สหรัฐฯ โดยมี
แฟรนไชส์อย่าง KFC, Starbucks, Pizza Hut, McDonalds, Mathnasium, Snap-On Tools, GNC Live Well และ
Comfort Keepers เข้าไปเปิดให้บริการหลายสาขา) ทั้งนี้ แฟรนไชส์ส่วนใหญ่ในสิงคโปร์จัดอยู่ในธุรกิจอาหารและ
เครื่องดื่ม ขณะที่ธุรกิจอื่นๆ อาทิ การศึกษา ค้าปลีก และสุขภาพ แม้ว่าจะมีสัดส่วนน้อยกว่า แต่ก็ถือเป็นธุรกิจที่มี
ความสำคัญซึ่งสร้างรายได้จำนวนมากให้แก่กิจการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่ง
นอกจากผู้ประกอบการจะขยายตลาดในสิงคโปร์แล้ว ยังสามารถใช้สิงคโปร์เป็นฐานขยายกิจการไปยังประเทศอื่นๆ
ในภูมิภาคในระยะถัดไปได้อีกด้วย

          ปัจจัยสนับสนุนให้สิงคโปร์เป็นตลาดแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพ
          ชาวสิงคโปร์มีกำลังซื้อมากที่สุดในอาเซียน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary
Fund: IMF) ระบุว่ารายได้ต่อหัวของประชากรสิงคโปร์ปี 2556 สูงที่สุดในอาเซียนและสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
โดยอยู่ที่ 54,776 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (เทียบกับไทย 5,674 ดอลลาร์สหรัฐ) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 61,237 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 นอกจากนี้ การที่สิงคโปร์เป็นตลาดที่ผสมผสานระหว่าง
วัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์ยอมรับสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก และเป็นปัจจัยดึงดูดธุรกิจ
แฟรนไชส์จากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก ทั้งนี้ กำลังซื้อที่ค่อนข้างสูงทำให้ผู้บริโภคในสิงคโปร์
ให้ความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ดังนั้น แฟรนไชส์ที่ต้องการรุกตลาดดังกล่าวจึงควร
เน้นที่บริการหรือสินค้าระดับกลางและระดับบนเป็นหลัก
          มีหน่วยงานที่สนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ คือ Spring Singapore ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุน
ความช่วยเหลือด้านการเงินให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ และ International Enterprise Singapore (IE Singapore)
ซึ่งช่วยเหลือกิจการที่ต้องการรับสิทธิ์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ และแฟรนไชส์ที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังประเทศ
อื่นๆ โดยไม่จำกัดว่าเจ้าของกิจการนั้นจะเป็นชาวสิงคโปร์หรือชาวต่างชาติ แต่มีเงื่อนไขว่ากิจการนั้นต้องมีสำนักงาน
อยู่ในสิงคโปร์
          บรรยากาศเอื้อต่อการทำธุรกิจ การติดต่อกับหน่วยงานราชการในสิงคโปร์ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ขณะที่
กฎหมายด้านการลงทุนจากต่างประเทศมีความชัดเจนและแน่นอน ทั้งนี้ รายงาน “Doing Business” ปี 2557 ของ
ธนาคารโลก (The World Bank) ระบุว่าสิงคโปร์มีบรรยากาศเอื้อต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)
มากที่สุดจากการจัดอันดับทั้งหมด 189 ประเทศ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง
ในการเข้าไปขยายตลาดหรือทำธุรกิจ
          นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาสิงคโปร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง Singapore Tourism Board (STB)
รายงานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาสิงคโปร์ในปี 2556 มีจำนวน 15.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 จากปี
2555 เป็นนักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียมากที่สุดถึง 3.1 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนมีจำนวนรองลงมาที่
2.3 ล้านคน จึงนับเป็นโอกาสของแฟรนไชส์ต่างๆ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม ในการขยายตลาดเพื่อรองรับ
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว

          เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ในสิงคโปร์
          ประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
             อาหารและเครื่องดื่ม ชาวสิงคโปร์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากวิถีชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ
ส่งผลให้มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน ขณะที่ในวันหยุดชาวสิงคโปร์ก็นิยมพา
ครอบครัวออกไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเช่นเดียวกัน โดยชาวสิงคโปร์มีนิสัยชอบลิ้มลองอาหารรสชาติ
แปลกใหม่ และมีความคุ้นเคยกับอาหารไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ กระแสรักสุขภาพประกอบกับการให้ความสำคัญ
กับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา ส่งผลให้อาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเป็นโอกาส
ของผู้ประกอบการไทยในการขายสิทธิ์ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเกษตรอินทรีย์
หรืออาหารที่ทำจากสมุนไพรแก่ผู้ประกอบการสิงคโปร์ หรือกระทั่งอาจจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบ
ธุรกิจร้านอาหารในสิงคโปร์ เพื่อป้อนวัตถุดิบหรือขยายช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารได้อีกด้วย
          รูปแบบการทำธุรกิจแฟรนไชส์
             เจ้าของแฟรนไชส์ชาวต่างชาติสามารถเปิดสาขาของตนเองในสิงคโปร์โดยตรงผ่านบริษัทแม่ หรือโอนสิทธิ์
แฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการสิงคโปร์ได้เช่นกัน การโอนสิทธิ์ดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยอิงตามกฎหมายสัญญา
(Contract Law) เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีกฎหมายจำเพาะเจาะจงเกี่ยวกับการโอนสิทธิ์แฟรนไชส์ ทั้งนี้ ตามปกติแล้ว
เจ้าของแฟรนไชส์ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ในรูปแบบ Master Franchising [หมายถึงเจ้าของแฟรนไชส์
(Master Franchisor) โอนสิทธิ์การบริหารจัดการกิจการแฟรนไชส์ภายใต้ขอบเขตพื้นที่หรือประเทศที่ตกลงกันแก่
บุคคลหรือนิติบุคคลที่เรียกว่าผู้รับโอนสิทธิ์ (Master Franchisee) โดยผู้รับโอนสิทธิ์สามารถโอนสิทธิ์นี้ต่อให้บุคคล
หรือนิติบุคคลอื่น (Sub-Franchisee) ได้ภายในพื้นที่หรือประเทศที่ตกลงกัน]
          ข้อบังคับ/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
             สิงคโปร์ไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้โดยตรง อย่างไรก็ตาม การประกอบธุรกิจดังกล่าวยังต้องปฏิบัติ
ตามกฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ Business Registration Act, Companies Act, Limited Liability
Partnership Act, Trade Marks Act และ Competition Act ทั้งนี้ ในกรณีที่ชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวรใน
สิงคโปร์แต่ต้องการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ต้องยื่นขอใบอนุญาตการจ้างงาน (Employment Pass) ตามข้อกำหนด
การเข้าเมืองของสิงคโปร์ก่อน เมื่อได้รับอนุมัติจึงสามารถนำไปจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจต่อ Accounting and
Corporate Regulatory Authority (ACRA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร
ธุรกิจประเภทต่างๆ ของสิงคโปร์

          แม้ว่าการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปยังสิงคโปร์จะมีโอกาสมาก อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคสำคัญบางประการ
ที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านอาหารและเครื่องดื่มต้องเผชิญ คือ การแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจาก
ผู้ประกอบการภายในสิงคโปร์มีความใกล้ชิดตลาดและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างดี ขณะที่แฟรนไชส์
จากต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ก็เป็นที่รู้จักและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ
และพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ ผู้ประกอบการอาจเลือกสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ Franchising and Licensing
Authority (FLA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสิงคโปร์ทำหน้าที่จัดการดูแลและพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะ โดย
FLA จะช่วยกำกับดูแลการดำเนินงาน ตลอดจนให้คำแนะนำด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ อาทิ กฎหมาย สัญญาที่
เกี่ยวข้อง การฝึกอบรม และแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จในระยะยาว
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.freeimages.com การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ