สังคมผู้สูงอายุกับโอกาสธุรกิจที่รออยู่    
   
            สังคมผู้สูงอายุเป็นประเด็นทางสังคมและเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่สนใจในหลายประเทศ จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่ม
สัดส่วนขึ้นมากมีสาเหตุสำคัญมาจากคุณภาพทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นจนส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรยืนยาว
ขึ้น แต่ในทางกลับกัน อัตราการเกิดในประเทศต่างๆ กลับลดลง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีบุตรน้อยลงมากเมื่อเทียบกับ
คนรุ่นก่อน ส่งผลให้สัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเกือบทุก
ประเทศทั่วโลกและเป็นที่จับตามอง เนื่องจากประเทศที่มีผู้สูงอายุในสัดส่วนสูงสะท้อนถึงจำนวนแรงงานที่อาจลดลง
ส่งผลต่อศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการของประเทศ อีกทั้งรัฐบาลยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสำหรับ
ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจนอาจกระทบต่อฐานะทางการคลังของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้ผลิตสินค้าและบริการ
สังคมผู้สูงอายุถือเป็นโอกาสที่ต้องติดตามศึกษา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคของ
ประชากรสูงวัย ซึ่งเป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า โดยลักษณะสำคัญ
ของสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจมีดังนี้

          ระดับของสังคมผู้สูงอายุ
          ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเท่าใดจึงจะถือได้ว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคม
ผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งสามารถแบ่งเป็นระดับได้ดังนี้
          • Aging Society : มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากร
อายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ
          • Aged Society : มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากร
อายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ
          • Super-Aged Society : มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

          ภูมิภาค/ประเทศผู้สูงอายุ
          ปรากฏการณ์สังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศทั่วโลก โดยสัดส่วนผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปีขึ้นไป)
ของโลกเพิ่มจากร้อยละ 9.2 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2556 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.1 ในปี
2593 โดยจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มจาก 841 ล้านคนในปี 2556 เป็นราว 2 พันล้านคนในปี 2593 ซึ่งหาก
พิจารณาถึงภูมิภาคหรือประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของสินค้าผู้สูงอายุมีดังนี้
          • ภูมิภาคเอเชียมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีถึงราว 469 ล้านคน
คิดเป็นร้อยละ 56 ของประชากรสูงอายุทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุในจีนถึงราว 230 ล้านคน และในอินเดีย
อีกราว 100 ล้านคน ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้สูงอายุราว 55 ล้านคน
          • ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 32 ของประชากรทั้ง
ประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับแรกเมื่อพูดถึงประเทศผู้สูงอายุ
          • กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปส่วนใหญ่มีสัดส่วนผู้สูงอายุในระดับสูง สังเกตได้จากประเทศที่มีสัดส่วน
ผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก 20 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป บ่งบอกถึงศักยภาพของการเป็นตลาด
สินค้าผู้สูงอายุ
 
  ประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ*
มากที่สุด 20 อันดับแรก
 
  หมายเหตุ : * อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป  
  ที่มา : World Population Aging 2013, United Nations
 
  สัดส่วนผู้สูงอายุในแต่ละทวีป   สัดส่วนผู้สูงอายุจำแนกตาม
ระดับการพัฒนาประเทศ
 
  ที่มา : World Population Aging 2013, United Nations  
            ตลาดที่มีศักยภาพของสินค้าผู้สูงอายุ
          แม้ว่าจีนและอินเดียจะมีผู้สูงอายุจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทั้งสองประเทศยังถูกมองข้ามในฐานะ
ของตลาดศักยภาพของสินค้าผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรยังมีรายได้ค่อนข้างต่ำ แต่หากพิจารณาจำนวนผู้สูงอายุ
จำแนกจากระดับการพัฒนาประเทศจะพบว่าผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนร้อยละ 32 ของผู้สูงอายุ
ทั่วโลก
ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวต่างหากที่เป็นผู้บริโภคเป้าหมายของผู้ผลิตสินค้าผู้สูงอายุ ทั้งนี้ Euromonitor
ได้ทำการศึกษาตลาดศักยภาพของสินค้าผู้สูงอายุ โดยพิจารณาจากประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมาก ผู้สูงอายุมี
สุขภาพดี และผู้สูงอายุมีรายได้ในระดับค่อนข้างสูง พบว่ากลุ่มประเทศที่ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของสินค้า
ผู้สูงอายุ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ออสเตรเลีย และสเปน
ขณะที่
เกาหลีใต้ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงราวร้อยละ 17 แต่จากการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุเกาหลีใต้กลับเป็นกลุ่มประชากร
ที่ค่อนข้างยากจน

          สินค้าและบริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
          สินค้าและบริการด้านสุขภาพเป็นตัวอย่างของสินค้าและบริการลำดับแรก เมื่อนึกถึงตลาดผู้สูงอายุ
อายุที่มากขึ้นมักมาพร้อมกับความเสี่ยงจากปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ โดยกลุ่มโรคสำคัญในผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคหัวใจ โรค
เกี่ยวกับกระดูก โรคเกี่ยวกับจิตประสาท และปัญหาในการย่อยอาหาร สินค้าและบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นสำหรับ
ผู้สูงอายุจึงเกี่ยวข้องกับการรักษาโรค อาทิ ยารักษาโรคและเครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปถึงบริการด้าน
พยาบาล เช่น โรงพยาบาลและคลินิก
เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่บำรุงสุขภาพ
มากขึ้น อาทิ วิตามินและอาหารเสริมสุขภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปบริโภคสินค้าอาหารที่ดี
ต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานปลาแทนเนื้อสัตว์ และการเพิ่มสัดส่วนผักและผลไม้ในมื้ออาหารมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น
สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง พบว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจาก
ผู้สูงอายุมักมีความกังวลถึงความปลอดภัยของอาหารค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้บริโภควัยอื่น ทั้งนี้ สัดส่วนผู้สูงอายุ
ที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มต้องพึ่งพาตนเองสูงขึ้น สินค้าดูแล
สุขภาพด้วยตนเองจึงเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ เครื่องวัดความดัน ชุดตรวจน้ำตาลในเลือด และรถเข็น
เป็นต้น
 
  ประเทศที่มี Healthy Life Expectancy*
สูงที่สุด 5 อันดับแรก
 
  หมายเหตุ : * อายุคาดหวังของประชากรในประเทศนั้นโดยที่ยังมีสุขภาพดี  
  ที่มา : www.helpage.org  
            สินค้าทั่วไปสามารถพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการและการใช้งานของกลุ่มผู้สูงอายุ โดย
ส่วนใหญ่เน้นการแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านร่างกายของผู้สูงอายุ จึงควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่าย เช่น เปิดง่ายไม่ต้อง
ใช้แรงมาก ตัวอักษรหรือตัวเลขเห็นได้ง่าย น้ำหนักเบา และมีขั้นตอนในการใช้งานไม่ซับซ้อน เป็นต้น ตัวอย่างของ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้สูงอายุที่ใช้งานง่ายและตัวอักษรใหญ่ และบรรจุภัณฑ์สินค้า
อุปโภคบริโภคที่ตัวอักษรใหญ่และอาจมีหีบห่อเล็กลงเพื่อให้มีน้ำหนักเบา ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารก็ควรมีขั้นตอน
ที่ง่ายและไม่ซับซ้อนในการเตรียมเพื่อรับประทาน และมีปริมาณน้อยลงให้เหมาะกับความสามารถในการบริโภคที่
ลดลงของผู้สูงอายุ รวมถึงควรเป็นอาหารที่มีเนื้อละเอียดและย่อยง่าย

          สำหรับธุรกิจบริการสำหรับผู้สูงอายุ นอกจากบริการรักษาพยาบาลที่ได้กล่าวไปแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวกับการ
ดูแลผู้สูงอายุ อาทิ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ก็มีแนวโน้มขยายตัวดีในอนาคต
ตามแนวโน้ม
ที่ผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น รวมถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม และบริษัทนำเที่ยวสำหรับ
ผู้สูงอายุ
ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีโอกาสขยายตัว เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้ดีใช้เวลาว่างในการเดินทาง
ท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ ไทยก็ถือเป็นประเทศเป้าหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงเป็นโอกาส
ของผู้ประกอบการไทยในการเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวสูงอายุ ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างจังหวัด
เชียงใหม่ก็กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุญี่ปุ่น ซึ่งย้ายมาไทยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในญี่ปุ่น
ที่อยู่ในระดับสูง
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.freeimages.com การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ