การพัฒนาชายแดนไทย-พม่า…
โอกาสทองทางการค้าที่น่าติดตาม

 
   
            ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนมีสัดส่วน
สูงถึงราวร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่ม CLM ทั้งหมด (กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า)
โดยพม่าถือเป็นตลาดเพื่อนบ้านที่ทวีความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกําลังซื้อของชาวพม่ามี
แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น แต่พม่ายังไม่สามารถผลิต
สินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศได้อย่างเพียงพอ การนําเข้าจึงมีความสำคัญอย่าง
มาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรค รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นที่
ต้องการเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค หรือกระทั่งสิ่งอำนวยความ
สะดวกต่างๆ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์
ซึ่งไทยสามารถตอบสนองความต้องการสินค้าดังกล่าว
ที่เพิ่มขึ้นในพม่าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาวพม่ามองว่า สินค้าไทยเป็นสินค้าระดับบน มีคุณภาพสูง รูปลักษณ์
สวยงามและทันสมัย เมื่อประกอบกับพรมแดนของไทยกับพม่าที่ติดต่อกันถึง 2,401 กิโลเมตร และมีช่องทาง
คมนาคมในหลายจังหวัดของไทยที่อยู่ติดกับพม่า อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ประจวบ
คีรีขันธ์ และระนอง จึงเอื้อประโยชน์อย่างมากต่อการค้าชายแดนระหว่างกัน

          พม่า : คู่ค้าชายแดนรายใหญ่อันดับ 1 ของไทยในกลุ่ม CLM
          ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการค้าชายแดนกับพม่าเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม CLM อยู่ที่ร้อยละ 46.6 ของมูลค่าการค้า
ชายแดนทั้งหมดในกลุ่มดังกล่าว และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83 ของมูลค่าการค้าโดยรวมกับพม่า โดยไทยเป็นฝ่าย
ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด เนื่องจากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าในปริมาณมาก โดยในปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง
112 พันล้านบาท
 
  มูลค่าการค้าชายแดนไทยกับ CLM   สัดส่วนการค้าชายแดนไทยกับ CLM
ปี 2556
 
  ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  
            ในบรรดาการค้าผ่านด่านศุลกากรต่างๆ นั้น การส่งออกและนำเข้าผ่านด่านศุลกากรสังขละบุรี จังหวัด
กาญจนบุรี นับว่ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 114.6 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด
ระหว่างไทยกับพม่า (ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ) แต่หากพิจารณาการส่งออกไปพม่าแล้ว การส่งออก
ผ่านด่านแม่สอด จังหวัดตาก มีมูลค่าสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 55 ของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปพม่าผ่านด่านชายแดน
ทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปพม่าผ่านด่านชายแดน อาทิ น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มที่มี
แอลกอฮอล์ น้ำมันเบนซิน ผ้าผืนและด้าย และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ
ก๊าซธรรมชาติ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สัตว์น้ำ ผักและของปรุงแต่งจากผัก และไม้ซุง

          โอกาสการค้าชายแดน : เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
          การพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและพม่าและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องนอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่าง
สองประเทศแล้วยังอาจต่อยอดไปถึงการลงทุนในธุรกิจประเภทต่างๆ อีกด้วย อันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและ
พม่าในระยะถัดไป ทั้งนี้ การพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาและกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่
สนับสนุนการค้าชายแดน อาทิ
          • การยกระดับด่านการค้าต่างๆ ในปี 2556 ด่านเมียวดี (ติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) และด่าน
บ้านพุน้ำร้อน
(ตรงข้ามกับด่านทิกิ เมืองทวาย รัฐตะนาวศรีของพม่า) ได้รับการยกระดับเป็นด่านผ่านแดนถาวร โดย
ด่านบ้านพุน้ำร้อนเป็น 1 ใน 12 พื้นที่เป้าหมายที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งหากมีการจัดตั้งเขตฯ และ
ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาจช่วยให้มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการ
คาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี 2557 จุดผ่อนปรนด่านสิงขร (ติดกับบ้านหนองหิน ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) จะถูกยกระดับเป็นด่านผ่านแดนถาวรเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าการยกระดับ
จุดผ่อนปรนด่านสิงขรจะส่งผลให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งยังสร้างโอกาส
ทางการค้าและการลงทุนให้ผู้ประกอบการไทยในหลายธุรกิจ อาทิ ประมง ห้องเย็น เกษตรและเกษตรแปรรูป โรงแรม
และการท่องเที่ยว
          • การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
              - การพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า นอกจากการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้าให้มีมาตรฐาน อาทิ ท่าเรือริม
แม่น้ำเมยแล้ว ยังจะมีการเปิดใช้ท่าเรือขนาดเล็กเชิงพาณิชย์ของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ทางฝั่งเมือง
ทวายของพม่า ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความสะดวกรวดเร็วขึ้น และยังช่วยกระตุ้นการค้า เนื่องจากเป็นท่าเรือ
ที่ใช้ขนส่งสินค้าต่อไปยังเมืองย่างกุ้งของพม่า ทั้งนี้ การเปิดใช้ท่าเรือดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้มูลค่าการค้าชายแดน
ด่านบ้านพุน้ำร้อน มีแนวโน้มขยายตัวราวร้อยละ 50 ในปี 2558
              - โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 (อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมือง
เมียวดี)
ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-กอกาเรกในพม่า
ทั้งนี้ การเปิดสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 (อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมืองเมียวดี) ส่งผลให้การค้า
ชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจการค้าชายแดนและจังหวัดตากจึงเสนอให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ
ไทย-พม่าแห่งที่ 2 เพื่อลดความแออัดในการใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าหาก
การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 แล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอำเภอแม่สอด และช่วยเพิ่มมูลค่า
การค้าชายแดนด่านแม่สอดเป็นราว 60,000 ล้านบาท เพราะนอกจากเส้นทางดังกล่าวจะเพิ่มช่องทางการขนส่งแล้ว
ยังช่วยกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นของพม่าได้สะดวกรวดเร็วอีกด้วย
              - การพัฒนาธุรกิจการบินและยกระดับสนามบิน ระบบคมนาคมทางอากาศของพม่าได้รับการพัฒนา
อย่างต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศและการผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยในอดีตหากเอกชนเปิดสายการบิน รัฐบาลพม่า
จะถือหุ้นร้อยละ 20 แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพม่าอนุญาตให้เอกชนถือหุ้นได้ทั้งหมด ส่งผลให้มีสายการบิน
สัญชาติพม่าเพิ่มขึ้น ขณะที่เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจก็ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเส้นทางบินเชื่อมโยงระหว่างเมือง อาทิ เมืองท่าขี้เหล็ก (ติดกับจังหวัดเชียงราย) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของรัฐฉาน มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง และ
เหมาะที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ของพม่า โดยรัฐบาลพม่ามีแผนที่จะยกระดับสนามบิน
ท่าขี้เหล็กให้เป็นศูนย์กลางการบินทางภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจสามารถเดินทางผ่าน
จังหวัดเชียงรายเข้ามายังเมืองท่าขี้เหล็กได้อย่างสะดวกก่อนจะเดินทางไปยังเมืองอื่นๆ ในพม่าต่อไป
          • การพัฒนาเมืองชายแดน
              เมืองเมียวดี
              - เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (พื้นที่ราว 496 เอเคอร์ หรือราว 1,240 ไร่) จัดตั้งในปี 2552 และอยู่
ระหว่างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยศูนย์บริการด้านศุลกากรแบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความ
สะดวกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับพม่า คลังสินค้า และอาคารพาณิชย์ รวมทั้งยังมีการเตรียมพื้นที่
สำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี และพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงแรม ที่พักอาศัย เพื่อรองรับการค้า การลงทุน
รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสขยายตลาดวัสดุก่อสร้างเพื่อ
รองรับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และยังเป็นประตูการลงทุนสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไป
ดำเนินธุรกิจในพม่า โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง หรือธุรกิจที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตราคาถูก
จากพม่า อาทิ สินแร่และวัตถุดิบทางการเกษตร รวมถึงการจ้างแรงงาน เพื่อผลิตและแปรรูปสินค้า ซึ่งจะช่วยประหยัด
ต้นทุนการผลิตลงได้
              - เมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี เมืองเมียวดีถือเป็นจุดกระจายสินค้าสำคัญของไทยในพม่า เนื่องจากมี
พรมแดนติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และมีสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้า
ระหว่างกัน อีกทั้งอยู่ใกล้เมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่า อาทิ เมืองย่างกุ้ง และเมืองเมาะละแหม่ง นอกจากนี้ เมือง
เมียวดียังมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าเชื่อมคาบสมุทรอินโดจีนสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และยุโรป จากการที่ตั้งอยู่บน
เส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) อีกด้วย หากการพัฒนา
เมืองคู่แฝดแล้วเสร็จ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและพม่าให้เพิ่มขึ้นอีกมาก โดยในช่วง
ที่ผ่านมาได้มีกระแสตื่นตัวของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปศึกษาโอกาสทางการค้าและการลงทุน
ในพื้นที่ดังกล่าว และมีการลงทุนก่อสร้างโรงแรมและที่พักในอำเภอแม่สอดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 3-4
ดาว เพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างการจ้างงานและกระตุ้นกิจกรรม
ทางเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น
          การที่พื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและพม่าได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยเอื้อประโยชน์แก่
ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมือใหม่ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ผ่านทางงานสัมมนาเกี่ยวกับการค้าชายแดนซึ่งจัดโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการเจรจาจับคู่
ธุรกิจ (Business Matching) อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปพม่าให้ประสบความสำเร็จยังมีรายละเอียดปลีกย่อย
อีกมาก นอกจากศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองแล้ว ผู้ส่งออกควรขอรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานไทยที่
เชี่ยวชาญด้านการค้าควบคู่ไปด้วย
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด