สำรวจตลาดค้าส่งค้าปลีกใน AEC    
   
            ตลาดค้าส่งค้าปลีกนับเป็นหัวใจสำคัญของการค้าในภูมิภาคอาเซียน เนื่องด้วยวัฒนธรรม รูปแบบ และวิถีชีวิต
ของผู้คนในอาเซียนยังนิยมจับจ่ายใช้สอยผ่านตลาดดังกล่าวอยู่ แม้ปัจจุบันระบบการค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด
และอินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทมากขึ้น แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าตลาดค้าส่งค้าปลีกยังคงเป็นศูนย์รวมการค้าของแต่ละ
หัวเมือง ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะรุกตลาดอาเซียนได้ทำความรู้จักกับช่องทางการค้าที่มีศักยภาพ
ในภูมิภาคอาเซียน “เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้ จะขอพาทุกท่านไปสำรวจตลาดค้าส่งค้าปลีกสำคัญใน 5 ประเทศ
ดังนี้
          ตลาด Pasar Baru (ปาซาร์ บารู)
          กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
          ตลาดแห่งนี้มีอายุเกือบ 200 ปี ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2363 ตั้งแต่สมัยที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของดัตช์
(หรือเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) และกรุงจาการ์ตาถูกเรียกว่า “ปัตตาเวีย” โดยพ่อค้ากลุ่มแรกเป็นชาวจีน แต่หลังจาก
ชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าบริเวณตลาดแห่งนี้ ทำให้การค้าส่วนใหญ่อยู่ในมือพ่อค้าชาวอินเดีย จนปัจจุบัน
มีชาวอินเดียอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมากถึง 2,000 ครอบครัว ส่วนใหญ่ค้าขายสินค้าในกลุ่มผ้าผืน ด้าย เสื้อผ้า
สำเร็จรูป รองเท้า และอุปกรณ์กีฬา ปัจจุบันตลาด Pasar Baru ยังเป็นหนึ่งในตลาดค้าส่งค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของ
กรุงจาการ์ตา ตั้งอยู่บนถนน Jalan Pasar Baru เขต Sawah Besar เทศบาล Central Jakarta สินค้าหลักที่จำหน่าย
เป็นกลุ่มเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ รองเท้า รวมถึงผลไม้นำเข้า อาทิ อินทผลัม ลิ้นจี่ นอกจากนี้ บริเวณรอบๆ
ตลาดยังเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าไอที อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ Tablet กล้องถ่ายรูปดิจิตอล ตลอดจนมีบางส่วนของ
ตลาดที่เป็นแหล่งจำหน่ายวัตถุโบราณและของสะสม อาทิ เหรียญกษาปณ์ ธนบัตรรุ่นเก่า
          วิธีเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง Transjakarta ซึ่งเป็นขนส่งมวลชนระบบ BRT (Bus Rapid Transit) มี
เส้นทางครอบคลุมสถานที่สำคัญในกรุงจาการ์ตา โดยใช้เส้นทางสาย 3 (Corridors 3) และลงที่สถานี Pasar Baru
 
            ตลาด Nilai 3 (นีไล 3)
          ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
          ตลาด Nilai 3 เป็นตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ในเขต Nilai รัฐ Negeri
Sembalan ห่างจากใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ 58 กิโลเมตร และห่างจากท่าอากาศยาน Kuala Lumpur
International Airport เพียง 2 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถึง 1,069 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ค้าส่งสินค้าทั่วไป
ศูนย์ค้าส่งค้าปลีกสินค้าเกษตร ห้างสรรพสินค้า (Sentral Bazar) ร้านค้าห้องแถว ร้านอาหาร สวนสาธารณะ และ
ที่อยู่อาศัย ตลาดแห่งนี้จำหน่ายสินค้าเกือบทุกประเภท อาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง
บ้าน เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารสำเร็จรูป และผักผลไม้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผักผลไม้จากไทย
ที่ส่งออกผ่านด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ ตลาดแห่งนี้ถือเป็นตลาดค้าส่งและศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญที่สุด
ของมาเลเซีย โดยพ่อค้าในกรุงกัวลาลัมเปอร์และเมืองอื่นๆ ในมาเลเซียมักเข้ามาเลือกซื้อสินค้าและติดต่อธุรกิจ
ที่ตลาดแห่งนี้ นอกจากนี้ ตลาด Nilai 3 ยังเป็นตลาดค้าปลีกที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของมาเลเซีย เห็นได้จากในช่วง
วันหยุดสุดสัปดาห์มีชาวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยมากถึง 150,000 คน
          วิธีเดินทาง :
          1. รถไฟชานเมือง (Commuter Train) จากสถานี KL Sentral ถึงสถานี Nilai ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง
          2. รถไฟด่วนท่าอากาศยาน (KL Express) จากสถานี KL Sentral ถึงสถานี KLIA 1 และต่อรถโดยสาร
ประจำทางหรือรถแท็กซี่ ใช้เวลาเดินทางรวม 40 นาที
 
            ตลาด Ben Thanh (เบน ทาน)
          นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
          ตลาด Ben Thanh เป็นตลาดค้าส่งค้าปลีกสำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนาม ตั้งอยู่บริเวณถนน Le Loi และถนน
Le Lai เขต 1 กลางนครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ตลาดแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี
2402 ในยุคที่เวียดนามยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ใช้ชื่อว่าตลาด “Les Halles Centrales” ก่อนจะปรับปรุง
ครั้งใหญ่ในปี 2413 หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ ต่อจากนั้นในปี 2455 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นตลาด Ben Thanh และปรับปรุง
อีกครั้งในปี 2528 ตลาด Ben Thanh เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ของที่ระลึก
สินค้าหัตถกรรม ของตกแต่งบ้าน อาหารสด อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส ผักผลไม้ และดอกไม้ รวมถึงมีร้านอาหาร
ท้องถิ่นเป็นจำนวนมากบริเวณรอบตลาด ทั้งนี้ ตลาดแห่งนี้ถือเป็น Landmark สำคัญแห่งหนึ่งของนครโฮจิมินห์
โดยชาวเวียดนามและนักท่องเที่ยวนิยมมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในช่วงเวลากลางวัน ขณะที่ในช่วงเวลากลางคืน
ตลาดแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งรวมร้านอาหารท้องถิ่นที่สำคัญของชาวเวียดนาม เนื่องด้วยที่ตั้งของตลาดอยู่บริเวณ
กลางเมืองและอยู่ตรงข้ามกับศูนย์กลางรถโดยสารประจำทาง ทำให้การเดินทางค่อนข้างสะดวก ตลอดจนบริเวณ
รอบตลาดยังเป็นย่านธุรกิจสำคัญ อย่างไรก็ตาม นอกจากตลาด Ben Thanh แล้ว นครโฮจิมินห์ยังมีตลาดค้าส่ง
ค้าปลีกสำคัญอีกหลายแห่ง อาทิ ตลาด Binh Tay ซึ่งถือเป็นตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดของเมือง ตั้งอยู่บริเวณถนน
Thap Muoi เขต 6 และตลาด Cho Cu ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งจำหน่ายสินค้านำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอาหาร
เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ตั้งอยู่บริเวณถนน Ton That Dam เขต 1
          วิธีเดินทาง :
          1. ตลาด Ben Thanh - รถโดยสารประจำทางส่วนใหญ่จะผ่านหน้าตลาด เนื่องจากอยู่ตรงข้ามกับศูนย์กลาง
รถโดยสารประจำทางของเมือง นอกจากนี้ ภายใต้แผนก่อสร้างรถไฟใต้ดิน สาย 1 จะก่อสร้างสถานีบริเวณตลาด
Ben Thanh ด้วย
          2. ตลาด Binh Tay - รถโดยสารประจำทาง สาย 1 จากศูนย์กลางรถโดยสารประจำทาง (ตรงข้ามตลาด
Ben Thanh)
          3. ตลาด Cho Cu - รถโดยสารประจำทาง สาย 1 จากศูนย์กลางรถโดยสารประจำทาง
 
            ตลาด Psah Olympic (พซาห์ โอลิมปิก)
          กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
          ตลาด Psah Olympic เป็นตลาดที่สำคัญของกรุงพนมเปญ ตั้งอยู่บริเวณ South of Sihanouk Boulevard
สินค้าจำหน่ายหลัก ได้แก่ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่ม (ส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนาม) เครื่องประดับ สินค้าอุปโภคบริโภค
(นำเข้าจากจีนและไทย) เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารและเครื่องปรุงรสท้องถิ่น พ่อค้าชาวกัมพูชานิยมเข้ามาเลือกซื้อ
สินค้าในตลาดแห่งนี้เพื่อนำไปจำหน่ายในต่างจังหวัด เนื่องจากสามารถต่อรองราคาสินค้าได้และเป็นแหล่งซื้อขาย
สินค้านำเข้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากตลาดบริเวณชายแดน โดยเฉพาะสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมเป็น
อย่างมากจากชาวกัมพูชา นอกจากนี้ ในกรุงพนมเปญยังมีตลาดค้าปลีกที่น่าสนใจอีก 2 แห่ง ได้แก่ ตลาด Psah
Thmey หรือ Central Market แม้จะเป็นตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เนื่องด้วยตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมือง
และติดกับห้างโสรยา (Sorya Shopping Center) ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่ได้ความนิยมมากที่สุดของชาวกัมพูชา ทำให้
บริเวณดังกล่าวเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าสำคัญของกรุงพนมเปญ รวมถึงยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
สำคัญอีกแห่งด้วย นอกจากนี้ มีตลาด Psah Toul Tompoung หรือ Russian Market จำหน่ายสินค้าในกลุ่ม
เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์หนัง ของที่ระลึก วัตถุโบราณ แม้ตลาดแห่งนี้จะได้รับความนิยม
จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็มีสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ไฟฟ้าวางจำหน่ายแก่คนท้องถิ่นด้วย โดย
ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากจีน เกาหลีใต้ และไทย
          วิธีเดินทาง :
          ทั้ง 3 ตลาดสามารถเดินทางไปได้ด้วยรถแท็กซี่และรถตุ๊กตุ๊ก ขณะที่การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง
ยังไม่สะดวกนัก
 
            ตลาด Mingala (มิงกลา) และตลาด Bayinnaung (บะยิ่นเหนาว์/บุเรงนอง)
          เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
          ตลาด Mingala เป็นตลาดค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของพม่า ตั้งอยู่บริเวณถนน Banyardala และถนน Set
Yone สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจากจีน สิงคโปร์ และไทย อาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหาร
สำเร็จรูป ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งจับจ่ายสินค้านำเข้า
สำคัญของพ่อค้าชาวพม่า โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากไทยที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ซึ่งพ่อค้าชาวพม่ามัก
เข้ามาเลือกซื้อสินค้าจากตลาดแห่งนี้ เพื่อนำไปกระจายตามร้านค้าในเมืองย่างกุ้งต่อไป ขณะที่ตลาด Bayinnaung
เป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของพม่า ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533
ตลาดแห่งนี้ถือเป็นแหล่งค้าขายถั่วและเมล็ดพันธุ์พืชที่ถูกกฎหมายเพียงแห่งเดียวของพม่า นอกจากนี้ ตลาดสำคัญ
อีกแห่งในเมืองย่างกุ้ง คือ ตลาด Bogyoke (โบโจ๊ก) หรือตลาด Scott (สก็อต) ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่อีกแห่งของเมือง
สินค้าที่จำหน่าย ได้แก่ สินค้าหัตถกรรม ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ภาพเขียน และอัญมณี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน
ตลาดแห่งนี้ไม่เป็นที่นิยมของชาวพม่ามากนัก เนื่องจากเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก
 
            จะเห็นได้ว่าตลาดสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น ไม่เพียงเป็นแหล่งค้าขายสำคัญ แต่ยังเป็นศูนย์รวมและแหล่ง
พักผ่อนหย่อนใจของคนท้องถิ่นในเมืองนั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะรุกตลาดอาเซียนอาจเดินทางไป
สำรวจตลาดดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับศึกษาพฤติกรรมและลักษณะความต้องการสินค้าของผู้บริโภคท้องถิ่น
ตลอดจนยังได้เห็นกิจกรรมการค้าขายจริงในท้องถิ่น ก่อนจะวางแผนเตรียมการรุกตลาดต่อไป
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด