ระบบภาษี…เรื่องต้องรู้เมื่อคิดลงทุนในพม่า

 
   
            หลังจากการเปิดประเทศ พม่าก็หวนคืนสู่เวทีนานาชาติอีกครั้ง พร้อมประตูการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้น ดังเห็น
ได้จากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพม่าเร่งปรับปรุงกฎหมายการลงทุนให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยเพื่อปูทางสู่ความเป็นสากล และตอบรับความต้องการ
ลงทุนจากนักลงทุนทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะนักลงทุนสำคัญลำดับต้นๆ ในพม่าอย่างจีน ไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์
ซึ่งล้วนมีส่วนในการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจต่างๆ ในพม่า ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรและเกษตรแปรรูป
ประมงและแปรรูป การท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง และอื่นๆ อีกมาก อันจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
อย่างยั่งยืนในอนาคต และสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศของพม่าปี 2555-2559 ที่ตั้งเป้าขยายตัวไว้ร้อยละ 7.7
ต่อปี
          การจะเข้าไปลงทุนในพม่า สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ คือ
ระบบภาษี เนื่องจากภาษีถือเป็นต้นทุนสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนต้องแบกรับในการประกอบธุรกิจ ล่าสุดในเดือน
มีนาคม 2557 รัฐบาลพม่าได้อนุมัติให้มีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดบางประการเกี่ยวกับภาษี อาทิ หมวดภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดาและหมวดภาษีการค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 ทั้งนี้ ภาษีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ
การลงทุนในพม่าที่ควรทราบมีดังนี้
          • ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax) พม่าเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 25 สำหรับบริษัท
ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด รวมทั้งมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งอยู่ภายใต้ Myanmar
Companies Act, Myanmar Foreign Investment Law ขณะที่สาขาของบริษัทจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 จึง
เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราภาษีที่แตกต่างกันส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ในพม่าเลือกที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่
มากกว่าการเปิดเป็นสาขา
            นอกจากนี้ รัฐบาลพม่าให้สิทธิพิเศษด้านภาษีภายใต้ Myanmar Foreign Investment Law เพื่อดึงดูดการ
ลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ
            - ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ Myanmar
Investment Commission (MIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการลงทุนในพม่า
            - ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการนำผลกำไรกลับไปลงทุนใหม่ภายใน 1 ปี
            - ธุรกิจส่งออกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของกำไรที่ได้จากการส่งออก
            - ได้รับสิทธิ์ในการหักลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา
            - MIC อาจพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลและยังไม่พัฒนา
            นอกจากนี้ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ยังจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีตาม
Special Economic Zone Law 2014 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2557 อาทิ
 
  หมายเหตุ : * ยกตัวอย่างในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา Exempted Zone เป็นที่ตั้งของ
อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก
      ** ยกตัวอย่างในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา Promotion Zone เป็นที่ตั้งของ
อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ
  ที่มา : Deloitte
                ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมาย Special Economic Zone Law 2014 ส่งผลให้กฎหมาย Special Economic
Zone Law 2011 และ Dawei Special Economic Zone Law 2011 ถูกยกเลิก
          • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 พม่าปรับปรุงอัตรา
ภาษีประเภทดังกล่าว จากเดิมที่เก็บในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นขั้นละร้อยละ 1 ของรายได้สุทธิก่อนหักภาษี เป็นร้อยละ
5 และอัตราสูงสุดเพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นพำนักในพม่า (Non-
Resident Foreigner) หรือชาวต่างชาติที่ทำงานในพม่าน้อยกว่า 183 วันในแต่ละปี ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคล
ธรรมดาในอัตราร้อยละ 35 ทั้งนี้ รายละเอียดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีดังนี้
 
  ที่มา : Deloitte  
            • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในพม่า และไม่มีถิ่นพำนักในพม่า
จะถูกเรียกเก็บในอัตราแตกต่างกัน ดังนี้
 
  ที่มา : Deloitte  
            • ภาษีการค้า (Commercial Tax) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากธุรกิจนำเข้าสินค้า ผลิตสินค้า การค้าและ
บริการ โดยมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 5-100 ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและบริการ สำหรับธุรกิจทั่วไป อาทิ ธุรกิจ
ค้าส่งและค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง โรงแรม ร้านอาหาร และการพิมพ์ จะเก็บในอัตราร้อยละ 5 ขณะที่ธุรกิจขายไม้ที่มี
มูลค่าหรือผลิตภัณฑ์ไม้อยู่ที่ร้อยละ 25 (ปรับลดจากร้อยละ 50) หยกและหินที่มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 15 (ปรับลดจาก
ร้อยละ 30) ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นในธุรกิจบริการบางประเภท อาทิ เช่าบ้าน จอดรถ ประกันชีวิต
การศึกษา ธนาคาร และการขนส่งสินค้า เป็นต้น
          พม่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ่อยครั้ง โดยนอกจากการปรับปรุงกฎหมายด้านภาษีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
พม่ายังเตรียมประกาศใช้กฎหมายลงทุนฉบับใหม่ในปี 2558 ซึ่งเป็นการควบรวมกฎหมาย Myanmar Foreign
Investment Law และกฎหมาย Myanmar Citizens Investment Law เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุน
ท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ อีกในอนาคต ดังนั้น
ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในพม่าจึงควรศึกษาและติดตามประเด็นเรื่องกฎหมายอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้เป็น
แนวทางในการวางแผนการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อไป
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด