แนวโน้มธุรกิจบริการสุขภาพในประเทศเพื่อนบ้าน    
   
            บริการสุขภาพเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีศักยภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการแพทย์ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่
จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค (Medical Hub) เนื่องจากโรงพยาบาลไทยและแพทย์ไทยมีคุณภาพ
ในระดับสูง ประกอบกับมีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยวและที่พักซึ่งจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการในลักษณะท่องเที่ยว
เชิงสุขภาพ (Medical Tourism) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือธุรกิจที่ตอบสนองกระแสการดูแลสุขภาพ (Wellness) อย่าง
สปาของไทย ซึ่งกล่าวได้ว่ามีชื่อเสียงระดับโลก ดังนั้น ธุรกิจบริการสุขภาพของไทยจึงเป็นธุรกิจที่มีโอกาสในการ
ขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า กัมพูชา และ สปป.ลาว นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อนบ้านที่ดีขึ้นทำให้ประชากรมีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงบริการสุขภาพอื่นๆ
อาทิ การรักษาความงาม และสปา ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย สำหรับแนวโน้มสำคัญ
ของลักษณะการใช้บริการทางการแพทย์ของประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีดังนี้
          • บริการทางการแพทย์ในประเทศเพื่อนบ้านยังต้องการการพัฒนาและลงทุนเพิ่มขึ้น การที่ประเทศ
เพื่อนบ้านเพิ่งเริ่มเปิดประเทศได้ไม่นานทำให้ธุรกิจบริการทางการแพทย์ในประเทศดังกล่าวยังพัฒนาไปไม่มากนัก
ไม่ว่าจะเป็นในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยในเชิงปริมาณพบว่า กัมพูชาและพม่ามีอัตราส่วนจำนวนเตียง (ใน
โรงพยาบาล) อยู่ที่ 7 และ 6 เตียงต่อประชากร 1 หมื่นคนตามลำดับ ขณะที่ สปป.ลาว มีอัตราส่วนสูงกว่าที่ 15 เตียงต่อประชากร 1 หมื่นคน ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวของทั้ง 3 ประเทศก็ยังต่ำกว่าไทยซึ่งอยู่ที่ 21 เตียงต่อประชากร
1 หมื่นคน ขณะที่ในเชิงคุณภาพพบว่า คุณภาพและเทคโนโลยีของอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาล
ในประเทศดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ ทำให้ไม่สามารถรองรับการรักษาโรคที่ซับซ้อนได้ จึงยังมี
ความต้องการการลงทุนในธุรกิจบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
 
  จำนวนเตียงในโรงพยาบาล  
  ที่มา : World Health Statistics 2014  
            • กลุ่มประชากรที่มีฐานะดีนิยมเดินทางไปใช้บริการทางการแพทย์นอกประเทศ อาทิ ข้าราชการ
ระดับสูง นักการเมือง และนักธุรกิจของประเทศเพื่อนบ้าน นิยมเดินทางไปใช้บริการสุขภาพนอกประเทศ โดยเฉพาะ
ไทยและสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการด้านป้องกันโรค (Preventive Healthcare) เช่น บริการตรวจสุขภาพ
และการฉีดวัคซีน เป็นต้น หรือบริการด้านการรักษาพยาบาล (Curative Healthcare) เช่น การตรวจวินิจฉัยโรค
การผ่าตัด และการฉายรังสี เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่าโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพฯ มีลูกค้าจากประเทศ
เพื่อนบ้านจำนวนมากมาใช้บริการ จนถือเป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาติสำคัญลำดับ 2 รองจากกลุ่มลูกค้าชาวอาหรับ
ทั้งนี้ การเดินทางมาใช้บริการดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมักพาครอบครัวมาท่องเที่ยวด้วย
ในคราวเดียวกัน
 
  จำนวนโรงพยาบาล  
  ที่มา : World Health Statistics 2014  
            • ความนิยมในสื่อบันเทิงต่างชาติสร้างความต้องการใช้บริการสุขภาพด้านความงามเพิ่มขึ้น เป็นที่
ทราบกันว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นพม่า กัมพูชา และ สปป.ลาว สามารถรับชมสื่อโทรทัศน์
ของไทยได้ ค่านิยมหลายอย่างจึงคล้ายคลึงกับคนไทย เช่นเดียวกับสื่อบันเทิงเกาหลีใต้ โดยเฉพาะละครโทรทัศน์
ก็เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันความสะดวกของสื่อออนไลน์ทำให้ประชากรในประเทศ
เพื่อนบ้านของไทยสามารถเข้าถึงสื่อต่างชาติได้อย่างง่ายดาย อิทธิพลของสื่อบันเทิงต่างชาติดังกล่าวสร้างค่านิยม
ความรักสวยรักงามและกระตุ้นให้ความต้องการใช้บริการเสริมความงามเพิ่มขึ้น อาทิ คลินิกเสริมความงาม คลินิก
ผิวหนัง และคลินิกทันตกรรม นอกจากนี้ ความต้องการใช้บริการด้านศัลยกรรมพลาสติกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ปัจจุบัน
ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงเท่านั้น
          • แพทย์แผนโบราณยังได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การนวดบำบัดแผนโบราณ และ
การรักษาด้วยสมุนไพรตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน สาเหตุหลักมาจากการรักษาโดยแพทย์แผนโบราณมีราคาถูกกว่าการ
รักษาโดยแพทย์สมัยใหม่ ประกอบกับผู้ป่วยส่วนหนึ่งเชื่อว่าการรักษาที่ใช้เพียงสมุนไพรมีความปลอดภัยกว่าการใช้
ยาสมัยใหม่ที่เป็นสารเคมี นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่ระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ยังกระจายไป
ไม่ทั่วถึงพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำ ทำให้ไม่มีความสามารถเพียงพอในการจ่ายเงิน
เพื่อใช้บริการสาธารณสุขสมัยใหม่
 
  เกร็ดน่ารู้
    พฤติกรรมของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน
นิยมซื้อยารับประทานเอง หากอาการของโรคไม่รุนแรงนัก
ทั้งนี้ ยาส่วนหนึ่งที่จำหน่ายในร้านขายยาของพม่าเป็นยา
นำเข้าจากไทย ซึ่งได้รับความเชื่อถือว่ามีคุณภาพดี ขณะที่
กัมพูชานำเข้ายาส่วนใหญ่จากฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม หาก
อาการของโรครุนแรง ประชากรในประเทศเหล่านี้จึงจะ
ตัดสินใจไปพบแพทย์ที่คลินิก จึงไม่น่าแปลกใจที่มักพบสถาน
พยาบาลในลักษณะคลินิกกระจายอยู่ค่อนข้างมากในประเทศ
เพื่อนบ้าน
    พม่าผลิตแพทย์ได้ราว 3 พันคนต่อปี แต่มีความต้องการ
จ้างงานแพทย์เพียงปีละประมาณ 500 ตำแหน่ง ทำให้แพทย์
ที่จบใหม่ส่วนใหญ่ไม่มีตำแหน่งงานรองรับ

 
            การลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพในประเทศเพื่อนบ้าน
          ธุรกิจบริการสุขภาพของไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเภทของธุรกิจที่มีโอกาส ได้แก่
          • ธุรกิจโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลไทยที่สามารถรุกทำการตลาดเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเป็น
เพียงเครือโรงพยาบาลรายใหญ่เท่านั้น อาทิ เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรงพยาบาลหลัก ได้แก่
โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลพญาไท ปัจจุบันกลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการได้ร่วมมือกับ
โรงพยาบาลพันธมิตรในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งต่อคนไข้มายังเครือข่ายโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ
และมีการลงทุนตั้งโรงพยาบาลในกัมพูชาแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ Royal Angkor Hospital และ Royal Rattanak
Hospital อีกทั้งยังมีแผนตั้งโรงพยาบาลเพิ่มเติมในพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้ นอกจากกลยุทธ์การจัดตั้งศูนย์
ส่งต่อคนไข้ในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หลายโรงพยาบาลยังใช้กลยุทธ์ในการตั้งโรงพยาบาลหรือคลินิกในจังหวัด
ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จ.อุดรธานี และ จ.เชียงราย เพื่อรองรับคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่
ดังกล่าว สำหรับการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวทำให้รายได้ของประชากรในประเทศเพื่อนบ้านสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้มีความ
ต้องการใช้บริการทางการแพทย์สมัยใหม่เพิ่มขึ้น
          • คลินิกเฉพาะทาง คลินิกเฉพาะทาง อาทิ คลินิกรักษาผิวหนัง มีโอกาสขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน
เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงสื่อบันเทิงต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดกระแสความรักสวยรักงาม ปัจจุบันผู้ประกอบการ
ไทยที่รุกเข้าไปยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ได้แก่ วุฒิศักดิ์คลินิก และนิติพลคลินิก โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็น
กลุ่มผู้มีฐานะค่อนข้างดี อาทิ เจ้าของกิจการ อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้บริการดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตามการขยายตัวของจำนวนชนชั้นกลางในประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ คลินิกทันตกรรมก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่คาดว่า
จะมีศักยภาพในการขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นบริการที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น
ตามระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
          • สปา ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเพิ่มขึ้น
ต่อเนื่อง ธุรกิจสปาจึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดย
ผู้ประกอบการธุรกิจสปาของไทยมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นด้านประสบการณ์ การบริหารจัดการ และการทำการตลาด
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจสปาที่สนใจลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านควรเลือกเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและเมือง
ท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก เนื่องจากตลาดผู้ใช้บริการหลักเป็นผู้มีฐานะและนักท่องเที่ยว

          กลยุทธ์การเจาะตลาด
          • หาพันธมิตรที่ดี การทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องร่วมมือกับพันธมิตรที่ดี ซึ่งจะช่วยให้การเข้าไป
จดทะเบียนทำธุรกิจมีความสะดวกยิ่งขึ้น สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล การเริ่มต้นด้วยการมีพันธมิตรเป็นโรงพยาบาล
ท้องถิ่นถือเป็นการเริ่มรุกตลาดขั้นต้น โดยอาจร่วมมือกันในการส่งต่อผู้ป่วยโรคร้ายแรงมายังโรงพยาบาลในประเทศ
ไทย และเป็นการเริ่มทำตลาดด้วยการลงทุนไม่มากนัก เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้บริการทางการแพทย์
ขั้นสูงที่ยังมีไม่มาก เนื่องจากยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้มีฐานะดีเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของธุรกิจคลินิกรักษาผิวหนัง
และสปา การมีพันธมิตรที่ดียังหมายถึงพันธมิตรที่เข้าใจลักษณะของธุรกิจบริการที่ต้องฝึกฝนลูกจ้างให้มีทัศนคติ
ที่ดีกับงานบริการ และแสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน ดังนั้น ทัศนคติของลูกจ้างหรือผู้ให้บริการจึงนับว่ามี
ความสำคัญอย่างมาก
          • เน้นคุณภาพบริการ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าในระยะแรกยังเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีฐานะดีเป็นหลัก ซึ่งมีกำลังซื้อ
เพียงพออยู่แล้ว ราคาจึงไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกใช้บริการของลูกค้ากลุ่มนี้ คุณภาพของการให้บริการ
และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อบริการจึงเป็นปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตาม ในระยะหนึ่ง
เมื่อเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาขึ้นจนทำให้กลุ่มชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจนำเสนอบริการ
ที่ราคาถูกลงเพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มดังกล่าว

          ปัจจุบันธุรกิจบริการสุขภาพของไทยเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งการเข้ารุกตลาดดังกล่าวในปัจจุบันถือเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากประเทศคู่แข่งทางด้านบริการสุขภาพของไทย
อย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ก็เล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าวด้วยเช่นกัน ดังนั้น คาดว่าการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวจะ
รุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเข้าไปจับจองส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ก่อน เพื่อสร้างความได้เปรียบ
ในการแข่งขัน
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด