ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทิศทางการเติบโตของตลาดในภูมิภาคต่างๆ
รวมทั้งภาวะการส่งออกของไทยเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะบริบทของเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสั่งสมประเด็นที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้การส่งออกของ
ไทยอาจไม่เติบโตสวยงามไปเกือบทุกภาคส่วนเช่นในอดีต แต่โอกาสการค้าการลงทุนรอบบ้านของไทยใน AEC ยังมีอยู่พอควร ในปี 2558 ทั่วโลกต่างจับตาและร่วมกันนับถอยหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN
Economic Community : AEC) เปิดศักราชการค้ารูปโฉมใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสไม่น้อยไปกว่าชาติอื่นๆ
ที่จะเข้าไปบุกเบิกตลาดหรือขยายธุรกิจการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา สปป.ลาว
พม่า และเวียดนาม (CLMV)

          อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยต้องทำการบ้านมากขึ้น
มิใช่เพียงดูข้อมูลตัวเลขการค้าโลกโดยรวม แต่ต้องเจาะเน้น (Focus) เป็นรายประเทศ เพื่อหาโอกาสในการทำตลาด
ให้สอดคล้องกับความต้องการที่มีความเฉพาะเจาะจง (Specific) มากขึ้น รวมทั้งปรับโครงสร้างการผลิต ปรับปรุง
สินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สร้างนวัตกรรมสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา เพิ่มมูลค่า
สินค้าเพื่อป้อนผู้บริโภคในตลาดบน ต่อยอดการส่งออกสินค้าเป็นบริการที่เกี่ยวเนื่อง และย้ายฐานการผลิตไปยัง
ประเทศที่มีความพร้อมด้านทรัพยากร แรงงาน และสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นยังคง
ได้รับจากประเทศพัฒนาแล้ว

          ท่ามกลางความไม่แน่นอนและคาดการณ์ยากของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการไทยควรต้อง
รู้วิธีบริหารจัดการความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ในภาวะที่มีเงินทุนไหลเข้าออกในตลาดภูมิภาคต่างๆ อย่าง
รวดเร็วและรุนแรง การทำประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ
การทำประกันความเสี่ยงการลงทุนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับโครงการลงทุนในต่างประเทศท่ามกลาง
ภาวะความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ หรือการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารต่างๆ รวมทั้ง EXIM
BANK ที่มีบริการหลากหลายพร้อมให้แก่ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุน ที่ดำเนินธุรกิจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา
เศรษฐกิจ และสนับสนุนการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศหรือประหยัดเงินตราต่างประเทศ

          สุดท้ายนี้ ผมขอกล่าว “สวัสดีปีใหม่ 2558” แก่ทุกท่าน ขอให้ปีหน้าที่จะถึงนี้เป็นปีแห่งความสมหวังและความ
เจริญรุ่งเรืองดังที่ท่านปรารถนานะครับ
 
    (นายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์)
รักษาการกรรมการผู้จัดการ