ธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา...
โอกาสขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย

 
   
            ปัจจุบันการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในกัมพูชา สะท้อนจากธุรกิจแฟรนไชส์ของ
ต่างประเทศ รวมถึงแฟรนไชส์ของไทยต่างทยอยขยายธุรกิจในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
ความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับธุรกิจแฟรนไชส์มีการควบคุมคุณภาพและการให้บริการด้วย
มาตรฐานเดียวกัน สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในเขตเมืองที่มีความคาดหวังในสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ
และได้มาตรฐานเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน หนุ่มสาวชาวกัมพูชารุ่นใหม่ยังเปิดรับการบริโภครูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนกัมพูชา ซึ่งมีจำนวนกว่า 4 ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่าง
ต่อเนื่อง ก็เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและคุ้นเคยกับการให้บริการในรูปแบบ
แฟรนไชส์เป็นอย่างดี ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยในการรุกตลาดกัมพูชา
สำหรับข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชาที่น่าสนใจ มีดังนี้

           ประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่น่าสนใจในตลาดกัมพูชา
              - ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ
                1) ร้านอาหารจานด่วน ปัจจุบันชาวกัมพูชานิยมสังสรรค์ รวมทั้งนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
รูปแบบการบริโภคอาหารของชาวกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับไทย คือ นิยมรับประทานอาหารประเภทข้าวมากกว่า
อาหารตะวันตก ขณะที่อาหารไทยเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว
กัมพูชาเป็นอย่างดี ทำให้เกิดช่องว่างในธุรกิจร้านอาหารจานด่วน ซึ่งปัจจุบันมีแฟรนไชส์อาหารจานด่วนของไทย
อาทิ Black Canyon เข้าไปเปิดให้บริการในกัมพูชา อย่างไรก็ตาม การที่ชาวกัมพูชารุ่นใหม่มีการเปิดรับการบริโภค
รูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ส่งผลให้แฟรนไชส์อาหารจานด่วนของต่างประเทศ อาทิ KFC และ Burger King จากสหรัฐฯ
และ BBQ Chicken จากเกาหลีใต้ รุกขยายธุรกิจร้านอาหารจานด่วนในกัมพูชาเช่นกัน
                     ทั้งนี้ การเปิดร้านอาหารไทยจานด่วนในกัมพูชา มีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การควบคุม
มาตรฐานและการฝึกอบรมให้แก่ผู้ปรุงอาหาร รวมทั้งพนักงานขาย เพื่อรักษารสชาติและเอกลักษณ์ความเป็นไทย
ไว้เป็นจุดแข็งเพื่อแข่งขันกับแฟรนไชส์ของต่างประเทศ เนื่องจากการปรุงอาหารไทยมีความซับซ้อนมากกว่าอาหาร
ตะวันตก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจเลือกปรับเปลี่ยนเมนูอาหารบางรายการให้เป็นลักษณะอาหารไทยประยุกต์
(Thai Fusion Food) ด้วยการผสมผสานความเป็นตะวันตกเข้ามา เพื่อสร้างความแปลกใหม่และเป็นจุดขายของ
แฟรนไชส์อีกทางหนึ่ง
                 
2) ร้านกาแฟและเบเกอรี เน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนที่มีจำนวนราวร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมใช้บริการร้านกาแฟมากขึ้น ตลอดจนกลุ่มนักเรียน นักศึกษา
โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งมีฐานะค่อนข้างดีและนิยมรวมกลุ่มนั่งเล่นอินเทอร์เน็ตในร้านกาแฟ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว
ลูกจ้างและพนักงานที่ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ บริษัทต่างชาติ และสถานทูต ซึ่งนิยมดื่มกาแฟในร้านกาแฟ
เป็นประจำ โดยผู้ประกอบการไทยที่สนใจดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ร้านกาแฟและเบเกอรีในกัมพูชาควรมีจุดขายที่
ชัดเจนและสร้างความแตกต่างทั้งตัวผลิตภัณฑ์และรูปแบบการตกแต่งร้านให้ดูดี มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อดึงดูดให้
ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ รวมทั้งมีบริการ Free Wifi เพื่อให้สอดรับกับกระแสเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยม
มากขึ้น ปัจจุบันมีแฟรนไชส์จากต่างประเทศ อาทิ Costa Coffee จากสหราชอาณาจักร และ Coffee Bean & Tea
Leaf จากสหรัฐฯ รวมทั้ง The Coffee Maker แฟรนไชส์จากไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ขณะที่ True Coffee
ของไทยมีแผนขยายธุรกิจในกัมพูชา
              - ธุรกิจความงาม ปัจจุบันชาวกัมพูชาที่มีฐานะดีและมีกำลังซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก คนกลุ่มนี้ใส่ใจกับ
สุขภาพและความงามมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลผิวพรรณ ทำให้ชาวกัมพูชามีความต้องการใช้บริการคลินิกเสริม
ความงามเพิ่มขึ้น โดยชาวกัมพูชานิยมใช้บริการคลินิกความงามในส่วนที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผิวพรรณให้ขาวใส
และรักษาสิวเป็นหลัก ขณะที่การทำศัลยกรรมความงามยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง เนื่องจากยังกังวลเรื่องความ
ปลอดภัยและความเจ็บปวดจากการทำศัลยกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจคลินิกความงามในกัมพูชายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น
และส่วนใหญ่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการท้องถิ่น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ
ดังกล่าว สำหรับแฟรนไชส์ธุรกิจความงามของไทยที่ขยายธุรกิจในกัมพูชา อาทิ วุฒิศักดิ์คลินิก และแพนคลินิก
ขณะที่นิติพลคลินิกอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อขยายธุรกิจในกัมพูชา
              - ธุรกิจบริการล้างและดูแลรักษารถยนต์ เน้นกลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งมีรถยนต์หลายคัน และนิยม
ใช้รถยนต์ซูเปอร์คาร์และรถยนต์หรู ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่ยังมีการแข่งขันค่อนข้างน้อย โดยอาศัยจุดแข็งด้าน
การให้บริการอย่างครบวงจร รวมทั้งนำเทคโนโลยีการล้างรถยนต์แบบพรีเมียม อาทิ การล้างรถยนต์ด้วยระบบไอน้ำ
มาใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา อาทิ Moly Care ซึ่งเปิด
สาขาในกรุงพนมเปญจำนวน 3 สาขา

           รูปแบบการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา
              ธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ในกัมพูชาเป็นการลงทุนในรูปแบบที่นักลงทุนซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ
เข้ามาในกัมพูชา โดยนักลงทุนส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์หรือ
เคยทำธุรกิจในกัมพูชามาก่อน ซึ่งวิธีการนี้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ
ได้ดีกว่าการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยตรง อาทิ กลุ่ม RMA Group ที่จดทะเบียนในไทย
ซึ่งรุกตลาดแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มในกัมพูชาผ่าน Express Food Group (EFG) โดยใช้รูปแบบการซื้อ
สิทธิ์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ อาทิ The Pizza Company (ไทย) Swensen’s (สหรัฐฯ) BBQ Chicken (เกาหลีใต้)
Dairy Queen (สหรัฐฯ) และ Costa Coffee (สหราชอาณาจักร) เพื่อดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา ขณะที่ QSR
Brands Bhd ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์อาหารจานด่วนรายใหญ่จากมาเลเซียใช้รูปแบบการร่วมทุนกับ Royal
Group of Companies Ltd. (RGC) ของกัมพูชา และ Rightlink Corporation Ltd. (RCL) ของฮ่องกง เพื่อดำเนิน
กิจการแฟรนไชส์ KFC ในกัมพูชาภายใต้ Kampuchea Food Corporation เป็นต้น

           การเลือกทำเลที่ตั้ง...หัวใจสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์
              การเลือกทำเลที่ตั้งนับเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชา ดังนั้น ควรเลือกทำเลในเขตชุมชน
เมืองที่ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นและเป็นศูนย์รวมของกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูงของประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งรวม
ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงทั้งชาวกัมพูชา ชาวต่างชาติ
ที่ทำงานในกัมพูชา ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ แฟรนไชส์ส่วนใหญ่ ทั้ง The Pizza Company, KFC และ
Swensen’s ต่างเริ่มต้นธุรกิจในกรุงพนมเปญ ซึ่งหากกระแสตอบรับดีและเป็นที่นิยมก็จะทำให้การขยายสาขาไปยัง
พื้นที่อื่นทำได้ง่ายขึ้น หรือหากเน้นฐานกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลักก็อาจพิจารณาเริ่มต้นธุรกิจ
ที่เมืองเสียมราฐเป็นแห่งแรก เนื่องจากเสียมราฐเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือน
กว่า 2.2 ล้านคนต่อปี สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของต่างประเทศที่เปิดสาขาแรกที่เมืองเสียมราฐ คือ Hard Rock Cafe

          ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในกัมพูชาควรศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างความเข้าใจ
ถึงลักษณะและพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดกัมพูชา ตลอดจนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง
ขึ้นจากแฟรนไชส์ต่างชาติ นอกจากนี้ ปัจจุบันกัมพูชายังไม่มีกฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์โดยตรงที่กำกับดูแลและวาง
กติการ่วมกันสำหรับการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ ทำให้หากเกิดความขัดแย้งขึ้นอาจประสบความยุ่งยากในการดำเนิน
คดีตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบและทำสัญญา
ทางธุรกิจที่รัดกุม ขณะที่การร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นก็เป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากมี
ประสบการณ์และเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่นเป็นอย่างดี อันจะช่วยเพิ่มโอกาสให้การทำธุรกิจประสบความ
สำเร็จได้ง่ายขึ้น
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด