ฟิลิปปินส์…ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการ
Business Process Outsourcing รายสำคัญของโลก

 
   
            กิจการรับจ้างบริหารธุรกิจ (Business Process Outsourcing : BPO) ถือเป็นธุรกิจดาวเด่นของ
ฟิลิปปินส์เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตสูง และสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจบริการข้อมูล
ลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call Center) และธุรกิจให้บริการออกแบบซอฟต์แวร์และไอที ล่าสุดบริษัทที่ปรึกษา Tholons
จัดอันดับเมืองที่มีความโดดเด่นด้านธุรกิจ Outsourcing 100 อันดับแรกของโลกประจำปี 2557 (Tholons Top 100
Outsourcing Destinations Ranking) ปรากฏว่า มี 2 เมืองของฟิลิปปินส์ ได้แก่ กรุงมะนิลา (เมืองหลวงของ
ฟิลิปปินส์) และเมืองเซบูติด 10 อันดับแรกของเมืองที่มีความโดดเด่นด้านธุรกิจ Outsourcing
โดยกรุง
มะนิลาอยู่ในอันดับ 2 (เลื่อนขึ้นมาจากอันดับ 3 ในปี 2556 แซงหน้าเมืองมุมไบของอินเดีย) รองจากเมืองบังคาลอร์
ของอินเดีย ส่วนเมืองเซบูอยู่ในอันดับ 8 นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 เมืองของฟิลิปปินส์ติด 100 อันดับแรก ได้แก่ Davao
(อันดับ 69) Metro Laguna (อันดับ 82) Bacolod (อันดับ 93) Iloilo (อันดับ 95) และ Baguio (อันดับ 99) สำหรับ
ประเทศไทยติดอันดับเพียงเมืองเดียว คือ กรุงเทพฯ (อันดับ 85)
          ปัจจุบันธุรกิจ BPO ของฟิลิปปินส์เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มบริษัทผู้ว่าจ้างขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ
สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ส่งผลให้ในปี 2556 ตลาดธุรกิจ BPO ในฟิลิปปินส์ขยายตัวถึงร้อยละ 17 จาก
ปีก่อน ด้วยมูลค่า 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.2 ของ GDP ฟิลิปปินส์ และมีการจ้างงาน
ในธุรกิจนี้เกือบ 1 ล้านคน โดยธุรกิจ Call Center มีสัดส่วนมากที่สุดราวร้อยละ 60 ของธุรกิจ BPO ในฟิลิปปินส์
และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยราวร้อยละ 15 ต่อปี รองลงมา ได้แก่ การบริการ Back-Office & Shared
Service (อาทิ การสรรหาพนักงาน การจ่ายเงินเดือนพนักงาน) มีสัดส่วนราวร้อยละ 19 ทั้งนี้ สมาคมรับจ้างบริหาร
ระบบธุรกิจและไอทีในฟิลิปปินส์ (The IT and Business Process Association of the Philippines : IBPAP)
ประมาณการมูลค่าตลาดของธุรกิจ BPO ในปี 2557 ไว้ที่ 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าภายในปี 2559 จะ
เพิ่มขึ้นเป็น 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP และมีการจ้างงานราว 4.5 ล้านคน

          ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ให้บริการ BPO รายสำคัญของโลก
          • มีแรงงานจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นแรงงานมีคุณภาพ ปัจจุบันฟิลิปปินส์มีประชากรวัยทำงานราว
40 ล้านคน โดยในแต่ละปีมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีราว 500,000 คน ซึ่งราวร้อยละ 30 มี
คุณสมบัติพร้อมเข้าทำงานในธุรกิจ BPO อีกทั้งประชากรฟิลิปปินส์ราวร้อยละ 93 ของประชากรทั้งประเทศสามารถ
อ่านออกเขียนได้ นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีแรงงานที่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้จำนวนมากเป็นอันดับ 3
ของโลก รองจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จึงทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ BPO แห่งใหม่ และ
ก้าวแซงธุรกิจ Call Center ของอินเดียในแง่จำนวนพนักงานและมูลค่าตลาดได้สำเร็จ โดยในปี 2556 ฟิลิปปินส์
สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดใหม่ในธุรกิจ Call Center ของอินเดียได้มากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากความได้เปรียบ
ด้านแรงงานเป็นสำคัญ
          • แรงงานที่มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษมีค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำ เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย
ขณะที่ให้บริการที่มีคุณภาพมากกว่า โดยเฉพาะสำเนียงที่ฟังง่ายกว่าชาวอินเดีย ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นศูนย์กลาง Call
Center ที่สำคัญของโลก ประกอบกับค่าจ้างพนักงาน Call Center ในฟิลิปปินส์ต่ำเพียง 1 ใน 6 ของค่าจ้างพนักงาน
ดังกล่าวในสหรัฐฯ ส่งผลให้บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ตลอดจนสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย อาทิ
AT&T, JPMorgan Chase, HSBC, Expedia, Citgroup, HP และ Oracle หันมา Outsource ศูนย์ Call Center
ในฟิลิปปินส์เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน โดยพนักงาน Call Center ในฟิลิปปินส์
พร้อมให้บริการ Call Center ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งมีช่วงเวลาในการติดต่อ
แตกต่างกัน เช่น การทำงานในฟิลิปปินส์ตอนกลางวันเป็นช่วงเวลากลางคืนในสหรัฐฯ
          • รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพิเศษ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของ
ฟิลิปปินส์ปี 2554-2559 กำหนดให้ธุรกิจ BPO เป็น 1 ใน 10 ธุรกิจที่มีศักยภาพสูง และเป็นธุรกิจที่รัฐบาลสนับสนุน
เป็นลำดับต้นๆ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากรและการออกมาตรการสนับสนุนการขยายธุรกิจ BPO ไปสู่เมืองต่างๆ
ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษประเภทเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีจำนวนถึง 187 แห่ง
จากเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 289 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 64.6 ของจำนวนเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด
ของฟิลิปปินส์ โดยนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่า
ธรรมเนียม อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประเภทของโครงการ ได้แก่ โครงการนำร่องได้รับยกเว้น 6 ปี
โครงการที่ไม่ใช่โครงการนำร่อง 4 ปี และโครงการลงทุนเพื่อขยายงาน 3 ปี โดยหลังจากช่วงเวลาที่ได้รับการยกเว้น
ภาษีจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของรายได้ นอกจากนี้ ยังได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร และชิ้นส่วน
ต่างๆ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ท่าเรือในการส่งออก ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อสินค้าท้องถิ่น ยกเว้น
ภาษี/ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้รัฐบาลท้องถิ่นในการขอใบอนุญาตต่างๆ และยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย

          แม้ว่าธุรกิจ BPO ของฟิลิปปินส์มีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ แต่ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเช่นนี้อาจก่อให้
เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ในอนาคต นอกจากนี้ การที่ฟิลิปปินส์ไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรื่องความปลอดภัยของ
ข้อมูล ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อข้อมูลของลูกค้าที่ต้องปกปิดเป็นความลับ ประกอบกับผลกระทบจากกฎหมายคุ้มครอง
ธุรกิจ Call Center ในสหรัฐฯ และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคชาวอเมริกัน เช่น บริษัทที่ย้ายฐาน Call Center ไปนอก
สหรัฐฯ จะถูกตัดสิทธิต่างๆ เช่น เงินให้เปล่าจากรัฐบาล เป็นต้น จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาใช้บริการ BPO
ในฟิลิปปินส์

          โอกาสของผู้ประกอบการไทย
          ผู้ประกอบการไทยอาจหาโอกาสเข้าสู่ตลาดโดยการสมัครร่วมงานสัมมนาหรือการประชุมเกี่ยวกับธุรกิจ BPO
ในฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีบริษัท BPO ของฟิลิปปินส์เข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อศึกษาช่องทางการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ตามห่วงโซ่การผลิต อาทิ ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ สำหรับใช้ในธุรกิจ
Call Center ในฟิลิปปินส์ รวมถึงศึกษาวิธีการดำเนินธุรกิจจากผู้มีประสบการณ์โดยตรง นอกจากนี้ การเติบโตของ
ธุรกิจ BPO ในฟิลิปปินส์ยังส่งผลให้การก่อสร้างอาคารสำนักงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงเป็นโอกาสของ
ผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และขยายตลาดประเภทวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักร
สำหรับธุรกิจ BPO ของไทยในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากนัก และเน้นให้บริการ Outsourcing ให้แก่กลุ่ม
ลูกค้าทั่วไปในต่างประเท
ศ ซึ่งต่างจากอินเดียและฟิลิปปินส์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปลงทุนติดตั้งระบบและบริการครบวงจรในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการใน
ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา
 
  Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป
เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่
รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
 
  ภาพประกอบจาก www.freeimages.com การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ